วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน - เรื่อง วิธีทำจิตใจให้หนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหว
ธรรมะกับชีวิตประจำวัน
เรื่อง
วิธีทำจิตใจให้หนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหว
อันที่จริง ว่าจะเลิกเขียนแล้วครับ เรื่อง ธรรมะกับชีวิตประจำวัน เพราะได้เขียนไปจนครบ 7 เรื่องตามที่ได้รับปากไว้กับน้อง ก้อนหินยิ้ม
แต่เหตุที่ต้องมาเขียนอีกเพราะเห็นว่าใครบางคนช่างหวั่นไหวไปกับคำพูดของคนอื่น หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ค่อยมีความเป็นตัวของตัวเองเท่าไรนักเลย เรารับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นได้เสมอ แต่เราก็ควรจะใช้วิจารณญาณของตนเองเท่านั้น ในการพิจารณาตัดสินใจว่าจะทำอะไร อย่างไร ควรจะเชื่อ หรือ คล้อยตามความคิดเห็นหรือคำวิจารณ์ของคนอื่นหรือไม่ เพราะเหตุใด ถ้าความคิดเห็นนั้นสมเหตุสมผล และเราได้ตรวจสอบแล้วว่าน่าเชื่อถือ เราควรก็จะเชื่อ แต่ถ้าความคิดเห็นนั้นไม่มีมูลความจริงหรือเต็มไปด้วยอคติ เราก็ไม่ควรจะสะดุ้งสะเทือน หรือ สะทกสะท้านไปกับคำวิจารณ์เหล่านั้นเลย
ยังมีคนจำนวนมาก ที่มีความวิตกกังวล กลัวว่าคนอื่นจะนินทาว่าร้ายตนเอง กลัวว่าจะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่มีเพื่อน หรือคิดน้อยใจไปต่างๆนานากับการกระทำของคนอื่น ฯลฯ แล้วก็ทำให้จิตตก หม่นหมอง ใจไม่สงบ ไม่มีความสุข
ถ้าได้ทำความเข้าใจกับความเป็นไปตามธรรมดาของโลกแล้ว บุคคลจะไม่หวั่นไหวกับเหตุการณ์ใดๆที่อาจเกิดขึ้นแก่ตนเลย ซึ่งความเป็นไปตามธรรมดานี้ เรียกว่า โลกธรรม
โลกธรรม 8 (worldly conditions; worldly vicissitudes)
คือ ความเป็นไปตามธรรมดาของโลก ได้แก่
1. ลาภ (gain)
ได้ลาภ, มีลาภ หมายถึงการได้มา การมี หรือได้ครอบครองเป็นเจ้าของสิ่่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ช้าง ม้า วัว ควาย สัตว์เลี้ยง คนรัก ลูก ฯลฯ
2. อลาภ (loss)
เสื่อมลาภ, สูญเสีย หมายถึงการสูญเสียสิ่งที่เคยมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเสียทรัพย์ เสียของรัก ของชอบใจ ฯลฯ
3. ยส (fame; rank; dignity)
ได้ยศ, มียศ หมายถึง การได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์ การได้รับตำแหน่ง การมีชื่อเสียงโด่งดัง การเป็นที่นิยมแพร่หลาย การได้รับเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญ ฯลฯ
4. อยส (obscurity)
เสื่อมยศ หมายถึง การถูกถอดออกจากตำแหน่ง การถูกถอดออกจากยศฐาบรรดาศักดิ์ การไม่ได้เป็นคนสำคัญอีกต่อไป การไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวางอีกต่อไป ฯลฯ
5. นินทา (blame)
ติเตียน การนินทา คือ การสนทนาหรือเล่าเรื่่องในรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลโดยไม่ยืนยันว่าเป็นความจริง คนเราทุกคนนั้น หนีไม่พ้นการถูกตำหนิ ตีเตียน นินทาไปได้เลย คนที่ไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก
6. ปสํสา (praise)
สรรเสริญ หมายถึง คำยกย่อง ชื่นชม คำสรรเสริญเยินยอ
7. สุข (happiness)
ความสุข ความพึงพอใจ สมหวังในสิ่่งที่ปรารถนา
8. ทุกข์ (pain)
ความทุกข์ หมายถึง ความเจ็บปวดทางกายที่เกิดจากโรคภัยหรือบาดเจ็บ ความเจ็บปวดทางจิตใจที่สูญเสียของรักของชอบใจ ความไม่พอใจ ความขุ่นข้องหมองใจต่างๆ ฯลฯ
โลกธรรม 8 นี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ข้อ 1, 3, 6, 7 เป็น อิฏฐารมณ์ คือ ส่วนที่น่าปรารถนา
ข้อ 2, 4, 5, 8 เป็น อนิฏฐารมณ์ คือ ส่วนที่ไม่น่าปรารถนา
โลกธรรมทั้งที่น่าปรารถนา และ ที่ไม่น่าปรารถนาเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้เรียนรู้ และแก่อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้
จะต่างกันก็ตรงที่ ผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้น้ัน ย่อมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ ความเป็นไปตามธรรมดาของโลก มักจะปล่อยใจให้เพลิดเพลิน ลุ่มหลง ยินดียินร้าย ปล่อยให้ความเป็นไปตามธรรมดาของโลกนั้นเข้าครอบงำย่ำยีจิตใจ ให้เกิดดีใจเสียใจเรื่อยไป ไม่พ้นจากทุกข์
ส่วนผู้ที่ได้เรียนรู้ จะมีความเข้าใจความเป็นไปตามธรรมดาของโลกนี้ พิจารณาเห็นตามเป็นจริงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแก่ตน ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่หลงใหลมัวเมาเคลิ้มไปตามอิฏฐารมณ์ ไม่ขุ่นมัวหม่นหมอง คลุ้มคลั่งไปในเพราะอนิฏฐารมณ์ มีสติดำรงอยู่ เป็นผู้ปราศจากทุกข์
การไม่หวั่นไหวไปกับโลกธรรม 8 นี้ ถือเป็นธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ ข้อที่ 35 จากมงคล 38 ประการ
35. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ
ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว
ในการที่เราจะเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคง หนักแน่น ไม่หวั่นไหวไปกับคำวิจารณ์ของใครๆนั้น และไม่หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแก่เรา เป็นเพราะเรามีความเข้าใจในโลกธรรม 8 และถ้าเราเข้าใจเรื่องของกรรม และ ที่มาของกรรมด้วย จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเรามากยิ่งขึ้น เพราะเราสามารถรู้ดีรู้ชั่วได้ด้วยตัวของเราเอง ถ้าเรารู้ว่า เราเป็นคนดี มีใจเป็นกุศลแล้ว เราคงไม่หวั่นไหว ไม่หวาดวิตกต่อคำวิจารณ์ของใครๆ
กรรม 2 (action; deed)
คือ การกระทำ, การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายหรือ ทางวาจา หรือทางใจ ล้วนแต่เป็นกรรมทั้งสิ้น แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
1. อกุศลกรรม (unwholesome action; evil deed; bad deed)
กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, การกระทำที่ไม่ดี การกระทำที่ไม่ฉลาด การกระทำที่ไม่เกิดจากปัญญา การกระทำท่ีเกิดจากความประมาท หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต ได้แก่ การกระทำที่เกิดจากความโลภ ความโกรธ หรือ ความหลง (ความโง่)
2. กุศลกรรม (wholesome action; good deed)
กรรมที่เป็นกุศล, กรรมดี, การกระทำที่ดี การกระทำที่ฉลาด การกระทำที่เกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตจิตใจ ได้แก่ การกระทำที่เกิดจากความไม่โลภ ความไม่โกรธ หรือ ความไม่หลง (ความไม่โง่)
เมื่อเราได้พิจารณาการกระทำของเราทุกอย่างแล้ว ว่าเราทำแต่กุศลกรรม เราย่อมรู้ดี รู้ชั่วด้วยตนเองแล้ว จิตใจของเราจะหนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่วิตกกังวลว่าคนอื่นจะมองว่าเราเป็นคนอย่างไร ใครจะมองว่าเราเป็นคนอย่างไรก็ช่างเขาเถิด เรามีสติรู้ตัวว่าเราทำแต่กุศลกรรมก็พอแล้ว
นอกจากนี้ เราต้องรู้ด้วยว่า รากเหง้าหรือต้นตอของกุศลกรรม และ อกุศลกรรมนั้นมีมาจากอะไรบ้าง ด้วยการทำความเข้าใจกับกุศลมูล และ อกุศลมูล
กุศลมูล 3 (roots of good actions)
รากเหง้าของกุศล, ต้นตอของความดี ได้แก่
1. อโลภะ (non-greed; generosity)
ความไม่โลภ, ความคิดเผื่อแผ่, ความมีใจกว้าง, ชอบเสียสละ ให้ทาน
2. อโทสะ (non-hatred; love)
ความไม่คิดประทุษร้าย, เมตตา, ความปรารถนาดี
3. อโมหะ (non-delusion; wisdom)
ความไม่หลง, ความฉลาด, ความมีปัญญา
หากบุคคลใดได้หมั่นพิจารณาการกระทำของตนอยู่เนืองๆ และเฝ้าดูจิตใจตนเองให้มีแต่กุศลมูล นอกจากจะเป็นผู้ที่มีสติปัญญา จิตใจสะอาดผ่องแผ้วแล้ว ยังเป็นผู้ที่หนักแน่นและมั่นใจในตนเองอีกด้วย จะไม่หวั่นวิตกต่อคำวิจารณ์ของผู้อื่น
อกุศลมูล 3 (roots of bad actions)
รากเหง้าของอกุศล, ต้นตอของความชั่ว ได้แก่
1. โลภะ (greed)
ความอยากได้ทั้งหลายทั้งปวง อยากได้ชื่อเสียงเกียรติยศ อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง อยากมีอำนาจวาสนาบารมี อยากมีบริวารล้อมหน้าล้อมหลัง ฯลฯ
2. โทสะ (hatred)
ความคิดประทุษร้าย ไม่ปรารถนาดีต่อผู้อื่น ความโกรธ ความเกลียดชัง ความขุ่นข้องหมองใจต่างๆ ฯลฯ
3. โมหะ (delusion)
ความหลง ความเชื่ออย่างงมงาย ไม่สมเหตุสมผล ความเชื่ออย่างผิดๆ ไม่ใช้ปัญญาในการพิจารณาไตร่ตรอง ความลุ่มหลงมัวเมา
เราควรเฝ้าดูจิตใจของเรา อย่าให้เกิดอกุศลมูลขึ้นในจิตใจของเรา ไม่ว่าเราจะทำอะไรลงไป ต้องพิจารณาอยู่เสมอว่า เราไม่ได้กระทำไปเพราะความอยากได้อยากมี หรือ กระทำไปเพราะมีเจตนาทำร้ายผู้อื่น หรือ กระทำไปเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา เพราะความลุ่มหลงงมงาย ฯลฯ เราควรเตือนสติตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา อย่าให้จิตใจของเรา มีอกุศลมูลเข้าครอบงำจิตใจได้ เพื่อความสุข ความสงบ ในชีวิตของเราเอง
ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน จงเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง เตือนสติตนเองได้ เข้าใจความเป็นไปตามธรรมดาของโลก ยึดมั่นแต่ในการทำความดี และไม่หวั่นไหวต่อคำวิจารณ์ของผู้อื่น