วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ราเกซ สักเสนา

เปิดปูม "ราเกซ สักเสนา" พ่อมดทางการเงิน ฝีมือทำ "โรคต้มยำกุ้ง"

ราเกซ สักเสนา ฉายา "พ่อมดการเงิน" อดีตที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ(บีบีซี)กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง หลังเงียบหายไปเกือบ 10 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์มณฑลบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา พิพากษายืนตามคำตัดสินของ นายมาร์ติน คูชอน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมแคนาดา ที่จะให้ส่งตัวนายราเกซ มาให้ทางการไทยดำเนินคดีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และไม่ให้ประกันตัว

11-11-2008 12:48 คดีบันลือโลก เกิดจาก นายราเกซ มีโอกาสเข้ามาเป็นที่ปรึกษา นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ซึ่งถูกทางการไทยยื่นฟ้องเมื่อปี 2539 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์บีบีซี 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ประมาณ 3,000 ล้านบาท) อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธนาคารเก่าแก่แห่งนี้ ต้องตกอยู่ในภาวะล้มละลายในปี 2538 นายเกริกเกียรติ นายราเกซ พร้อมพวก ใช้วิธีการปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงสูง และกิจกรรมที่ใช้เงินจำนวนหลายหมื่นล้านบาทให้พรรคพวกที่เป็นนักการเมือง จากนั้น ตบแต่งบัญชีให้มีผลกำไรนับพันล้านบาท ทั้งที่ขาดทุนย่อยยับ ทำให้ บีบีซี ต้องตกอยู่ในภาวะล้มละลายในปี 2538 เนื่องจากมีหนี้สิน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท) หลังจากนั้นไม่นาน สถาบันการเงินกว่า 50 แห่ง ก็ต้องปิดตัวลงจนเป็นเหตุให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นในระบบธนาคารไทย และนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจการเงินในเอเชียหรือที่เรียกว่า "โรคต้มยำกุ้ง" ในปี 2540 การเปิดปมปัญหาการคอรัปชั่นในบีบีซีเริ่มต้นจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายแฉกลโกงบีบีซี ด้วยวิธีเซียนเรียกพี่ ต่อสภาผู้แทนราษฏร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ซึ่งตรงกับสมัย นายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา ผลการอภิปรายในครั้งนั้น ทำให้ นายกฯบรรหาร สั่งให้ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น ดำเนินการสั่งปิดบีบีซี ตามมาด้วยปฏิบัติการล้างบาง ในธนาคารแห่งประเทศไทย กระทั่ง 17 พฤษภาคม 2539 กระทรวงการคลัง ได้ตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมธนาคารแห่งนี้แบบเบ็ดเสร็จจากนั้นนายเกริก เกียรติ เดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็กลับมาสู้คดีในประเทศไทยในเดือนถัดมา และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 นายเกริกเกียรติ ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินจำคุกรวมทั้งหมด 3 คดี คดีละ 10 ปี รวมเป็น 30 ปี และปรับรวมกันทั้งหมด 3,330 ล้านบาท ส่วน นายราเกซ หลบหนีไปประเทศแคนาดาตั้งแต่ปี 2539 และถูกทางการไทยออกหมายจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539 จากนั้นถูกตำรวจแคนาดาจับกุมที่เมืองวิสต์เลอร์ มณฑลบริติช โคลัมเบีย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปีเดียวกัน แต่นายราเกซ ได้สู้คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อจะไม่ต้องถูกส่งตัวกลับมาไทย โดยอ้างว่าถูกใส่ร้ายให้เป็นแพะรับบาป จากกลุ่มผู้บริหารบีบีซี และผู้กำกับดูแลระบบการเงินของไทย ซึ่งพยายามปกปิดเรื่องอื้อฉาวในบีบีซี และการต่อสู้คดีดังกล่าวได้จารึกไว้ ว่ากินเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์แคนาดา ต่อมาในปี 2546 นายมาร์ติน คูชอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแคนาดา ตัดสินให้ส่งตัวนายราเกซให้ทางการไทย แต่นายราเกซดิ้นรน ต่อสู้ในศาลอุทธรณ์ เพื่อที่จะไม่ต้องถูกส่งตัวกลับ โดยอ้างว่าถ้าถูกส่งกลับประเทศไทยอาจถูกสังหารหรือถูกขังในคุกอย่างโหดร้าย ทารุณ จนล่าสุดเมื่อศาลอุทธรณ์มณฑลบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา พิพากษายืนตามคำตัดสินของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมแคนาดา ชะตากรรมของนายราเกซจึงอยู่ที่ผลการฎีกา ซึ่งจะตัดสินชะตากรรมของราเกซ ว่าจะจบลงอย่างไร ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินคดีนายราเกซ นั้น ตามกฎหมายของประเทศแคนาดาสามารถยื่นฎีกาภายในระยะเวลา 30 วัน เมื่อยื่นแล้วศาลฎีกาจะให้อัยการพิจารณาคัดค้านภายในระยะเวลา 30 วัน จากนั้นศาลจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะรับฎีกาหรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 60 วัน ซึ่งการพิจารณาจะรับฎีกานั้นมีเหตุผล 2 ประการ คือประการที่หนึ่ง คือต้องเกี่ยวกับความมั่นคง และผลประโยชน์ของประเทศแคนาดา และประการที่สอง คือ เกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญ อย่างไรก็ดี เชื่อว่า เรื่องของนายราเกซ ไม่เข้าข่ายทั้งสองกรณี จึงคาดว่าศาลจะไม่รับฎีกาของนายราเกซ และถ้าศาลไม่รับฎีกาก็จะต้องส่งตัวนายราเกซมาดำเนินคดีในประเทศภายในระยะ เวลา 45 วัน นับจากวันที่ศาลฎีกาไม่รับพิจารณาคดี สำหรับการประสานขอตัวนายราเกซมาดำเนินคดีในประเทศไทยนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา มีอัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางรับตัวนายราเกซ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย และสามารถดำเนินคดีต่อในประเทศไทยได้ทันที ส่วนฐานความผิดของนายราเกซ เป็นคดีร่วมกันยักยอกทรัพย์ และผิด พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ และคดียักยอกทรัพย์ ทั้งนี้ คดีความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ มีอายุความ 15 ปี จึงสามารถดำเนินคดีได้ทันที เมื่อนายราเกซกลับมาในประเทศไทย ส่วนคดียักยอกทรัพย์ที่มีอายุความ 10 ปี ไม่สามารถเอาผิดนายราเกซได้ เนื่องจากหมดอายุความไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น